ศึกษาและวิเคราะห์ 3 นโยบายน่าสนใจด้านเทคโนโลยีของผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ”

by | Jun 16, 2022 | Politics, Technology

Photo by  Infoquest

หลังจากจบเวทีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อันดุเดือดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อิสระ หมายเลข 8 ทำสถิติใหม่ด้วยคะแนนแบบแลนด์สไลด์กว่า 1,386,215 เสียงจากทุกเขตของกรุงเทพมหานคร และคราวนี้ถึงเวลาที่ผู้ว่าฯ กทมที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีจะได้แสดงผลงานทำตามนโยบายที่ได้กล่าวเอาไว้แล้ว

Photo by Posttoday

หลังจากจบการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไปแล้ว นโบายของผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธ์ มีทั้งหมด 214 ข้อด้วยกัน จากการรวมนโยบายกว่า 214 ข้อ ซึ่งถูกออกแบบมาให้ครอบคุมทุกปัญหาของคนเมืองกรุงบนโจทย์หลักที่ว่า “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ผลลัพธ์ที่ได้คือนโยบายหลักภายใต้ชื่อ “กรุงเทพฯ 9 ดี” ได้แก่ ปลอดภัยดีเดินทางดีสุขภาพดี สร้างสรรค์ดีสิ่งแวดล้อมดี โครงสร้างดี บริหารจัดการดี เรียนดี เศรษฐกิจดี วันนี้พวกเราจะพามาดูและวิเคราะห์ 3 นโยบายที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีว่าเป็นอย่างไรบ้าง

1. พัฒนาแบบจำลองเสมือนกรุงเทพฯ (Digital Twin) เพื่อใช้วางแผนและแก้ปัญหาเมือง

Photo by dqindia

อ้างอิงจาก พัฒนาแบบจำลองเสมือนกรุงเทพฯ (Digital Twin) เพื่อใช้วางแผนและแก้ปัญหาเมือง

ที่มาของนโยบายนี้

ปัจจุบันข้อมูลพื้นฐานของ กทม. เช่น ข้อมูลสาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า ถูกเก็บรวบรวมและดูแลโดยหน่วยงานรัฐต่างๆ มีการเก็บภาพถ่ายทางอากาศ และข้อมูลสามมิติของพื้นที่โดยรอบด้วยเทคโนโลยี LiDAR (อุปกรณ์ที่ใช้แสงเพื่อตรวจจับและคาดคะเนระยะทางของวัตถุ ซึ่งถูกนำไปใช้โดยรถยนต์ไร้คนขับ และหุ่นยนต์เพื่อตรวจจับวัตถุในโลกจริงเพื่อสร้างโลกเสมือน 3 มิติ) ไปบ้างแล้วในบางพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาข้อมูลพวกนี้ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ต่อจนเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นนโยบายนี้จึงตั้งใจจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนากทม.

นโยบายนี้มีแนวทางอย่างไรบ้าง

เทคโนโลยีหลักในนโยบายนี้คือ Digital Twin อธิบายง่ายๆคือการสร้างโลกจำลองที่สามารถนำมาใช้จำลองสถานการณ์หรือคาดการณ์ว่า หากเราเปลี่ยนสถานะหรือปัจจัยบางอย่างในโลกจำลองจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการวางแผนการดำเนินการต่างๆไม่ว่าจะเป็น การวางแผนเกษตรกรรม การวางแผนการซ่อมบำรุงถนน เพราะถ้าหากเราสามารถคาดการณ์ผลที่ตามมาได้ก็จะช่วยลดความเสี่ยง ลดความล้มเหลวที่มีค่าใช้จ่ายสูง 

จากเว็บไซต์ของผู้ว่าฯ กทม. แนวทางการสร้างแบบจำลอง Digital Twin ของเมืองกรุงเทพฯจะนำข้อมูลจาก LiDAR และฐานข้อมูลด้าน GEO-spatial (ข้อมูลที่ระบุตำแหน่งที่ตั้งของข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในเมือง ทั้งข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม โครงสร้างพื้นฐาน) มารวมกันเพื่อจำลองสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใน กทม. เช่น

  1. ใช้ข้อมูลแสดงตำแหน่งที่ตั้งอาคารที่อยู่อาศัยของประชาชนมาประกอบเป็นปัจจัยในการตัดสินใจก่อนอนุมัติการซ่อมบำรุงถนน 

  2. เลือกจุดสำหรับการขุดเจาะไม่ให้กระทบกับทางเข้า-ออกตัวอาคาร เพื่อลดผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนให้มากที่สุด 

คนกรุงเทพฯจะได้อะไรบ้างจากโครงการนี้

ข้อดีของ Digital Twin คือ การที่เราสามารถทำแบบจำลองที่ช่วยให้เราคาดการณ์เหตุการณ์ได้ เช่น บริเวณที่น้ำอาจท่วม บริเวณที่ถังขยะที่อาจจะไม่เพียงพอ ช่วยให้มีระบบการแจ้งเตือนที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนอย่างเราวางแผนชีวิตได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ทางภาครัฐเองก็ยังสามารถคาดการร์ความสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการได้ดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการทุ่มงบประมาณไปในโครงการที่มี impact ไม่คุ้มงบประมาณ

ข้อจำกัดและจุดอ่อนของนโยบายนี้

  1. เมื่อมีโครงการขนาดใหญ่ก็ย่อมนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา แม้แต่การทำเว็บไซต์ก็ยังต้องมีการบำรุงรักษา แต่ถ้าหากโครงการนี้สามารถลดค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยง ลดต้นทุนได้มากกว่าค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา การทำ Digital Twin ก็อาจจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
  2. การทำ Digital Twin แบบที่ข้อมูลทุกอย่าง real-time ต้องพึ่งพาความสเถียรของอินเตอร์เน็ตของแต่ละพื้นที่ และการเชื่อมต่อของข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆเป็นอย่างมาก ถ้าหากขาดปัจจัยเบื้องต้นนี้ ก็อาจจะทำให้ได้ผลวิเคราะห์ที่ไม่ real-time แต่อย่างไรก็ตาม การทำโปรเจคขนาดใหญ่เราสามารถแบ่งทำไปทีละส่วนหรือทีละพื้นที่ได้ ทำให้การพัฒนาของ
  3. คุณภาพของข้อมูลนับเป็นอีกสิ่งที่ควรให้ความใส่ใจเพราะข้อมูลที่มีคุณภาพก็จะนำมาซึ่งการคาดการณ์ที่แม่นยำ 

2. พัฒนาฟรี Wi-Fi ทุกโรงเรียน รองรับการสอนผ่านสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ และการสืบค้นข้อมูล

Photo by securedgenetworks

อินเทอร์เน็ตเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการเรียนรู้ในปัจจุบัน ยิ่งการเรียนในยุคโควิดอย่างนี้การเรียนการสอนจึงถูกเปลี่ยนไปให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ กทม.จะผลักดันให้มีการติดตั้ง Wi-Fi ฟรีสำหรับทุกโรงเรียนในกรุงเทพฯ โดยนอกจากจะให้นักเรียนใช้สำหรับการเรียนและการสืบค้นแล้วยังจะเปิดให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาใช้งานได้ในวันหยุด เพื่อช่วยผลักดันให้โรงเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน

นี่เป็นสัญญาณที่ดีในการปรับตัวให้เข้าสู่สังคมดิจิทัล ประเทศเล็กๆอย่าง เอสโตเนีย เป็นแบบอย่างที่ดีที่ประเทศไทยควรนำมาใช้ในการปรับโครงสร้างสังคมให้น่าอยู่และทันสมัย สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอสโตเนียกับแผนงาน E-Estonia ได้ที่ Estonia ประเทศเล็กๆที่มีสังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก!

อย่างไรก็ตาม Wi-Fi ฟรีก็ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของความปลอดภัย (Cyber Security) ผู้ใช้ส่วนมากเก็บข้อมูลที่สำคัญและละเอียดอ่อนไว้ในอุปกรณ์ของตน หากไม่มีมาตราการและมาตราฐานที่ดีในการเก็บรักษาข้อมูลก็อาจจะส่งผลถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy)  น่าเสียดายที่ผู้ใช้ WiFi สาธารณะส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงภัยคุกคามที่พวกเขาเผชิญ

หากต้องการอยู่อย่างปลอดภัยในขณะที่ใช้ WiFi สาธารณะ เราจำเป็นต้องรู้ว่าภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นคืออะไร  เพื่อให้เรามีเครื่องมือในการทำงานได้อย่างปลอดภัยและปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในพื้นที่สาธารณะ และนี่อาจจะเป็นหนึ่งโจทย์สำคัญของกทม.ที่ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ Wi-Fi สาธารณะได้อย่างปลอดภัย

3. อาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ตัวช่วยด้านเทคโนโลยีสำหรับคนกรุงเทพฯ

Photo by Naewna

มีเทคโนโลยีที่ดีแต่คนใช้ตามไม่ทันก็อาจจะไม่ใช่ภาพที่ดีสักเท่าไหร่ โลกหมุนไปเร็วขึ้นทุกวันกระแสแห่งเทคโนโลยีก็เช่นกัน จากวันที่มือถือเครื่องแรกได้ถูกผลิตในปี 1984 จนตอนนี้ที่เรามีสมาร์ตโฟนล้ำสมัยไร้ปุ่มกดบนหน้าจอมันพึ่งผ่านไปเพียงเกือบๆ 4 ทศวรรษเท่านั้น ไม่แปลกใจเลยที่ผู้สูงอายุหรือกลุ่มคนอย่าง Baby Boomer จะไม่สามารถเข้าใจในองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบดิจิทัลซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะใช้ชีวิตในปัจจุบัน

ต่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้สมาร์ทโฟนได้อย่างคล่องแคล่วและเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ แต่เรื่องสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงด้วยคือ Fake News กลุ่มคนในวัยสูงอายุมีอัตราเสี่ยงสูงในการถูกมิจฉาชีพหลอกเอาได้ นี่จึงเป็นเรื่องที่ดีที่กทม.ได้ก่อตั้งกลุ่ม อสท. เพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่มีความเข้าใจในเทคโนโลยี

การที่รัฐเริ่มโยกย้ายสิทธิประโยชน์ต่างๆไปไว้บนออนไลน์นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีของประเทศ แต่อาจจะไม่ใช่กับผู้ที่มีรายได้น้อย และ ประชาชนผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี ในกรุงเทพฯ มีประมาณมากกว่า 1.1 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของประชากรกรุงเทพฯ ทั้งหมด ดังนั้น กทม.จึงพัฒนาเครือข่ายคนรุ่นใหม่ให้เป็นอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางด้านดิจิทัลของประชาชนที่ไม่มีความเข้าใจในระบบ เช่น 

  – การช่วยเหลือประชาชน และ ผู้สูงอายุในการลงทะเบียนรักษาสิทธิต่าง ๆ ของรัฐ 

  – การช่วยพ่อค้าหาบเร่แผงลอยในการเข้าถึงตลาดออนไลน์ 

  – การช่วยคนขับรถในการเข้าถึงแพลตฟอร์มรับงานขับรถออนไลน์

  – การช่วยแรงงานฝีมือในชุมชนเข้าถึงแพลตฟอร์มหางาน และการเก็บข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ 

  – การเก็บข้อมูลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน

  – ช่วยเหลือคนในชุมชน (โดยเฉพาะผู้สูงอายุ) ในการใช้บริการ Telemedicine

  – การช่วยเหลือคนพิการลงทะเบียนบัตรคนพิการ ให้ลดการตกหล่นของคนพิการที่เข้าไม่ถึง รวมถึงการเข้าถึงสิทธิของคนพิการที่มักจะต้องมีบัตรคนพิการในการยืนยันตัวตน

สุดท้ายนี้ทั้ง 3 นโยบายเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เราหยิบยกมานั้นเป็นเพียงจิ๊กซอว์ส่วนเล็กๆในแผนนโยบาย “กรุงเทพฯ 9 ดี” เท่านั้น มีนโยบายอีกกว่า 214 ข้อของผู้กว่า กทม. ที่ผ่านการระดมความคิดจากประชาชนจากหลายหน่วยงานที่เราคงต้องไปศึกษากัน ทางผู้ว่าฯ กทม.กล่าวไว้ว่านโยบายทุกข้อสามารถทำได้จริง ถ้าหากทุกหน่วยงานรวมถึงประชาชนร่วมด้วยช่วยกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่านโยบายทุกข้อที่กล่าวมาต้องเป็นไปตามแผนทั้งหมด สามารถปรับและแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้เสมอ 

Line @devfinite หรือ Email sales@devfinite.solutions

Tags

Related Content

Estonia ประเทศเล็กๆที่มีสังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก!

Estonia ประเทศเล็กๆที่มีสังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก!

ประเทศเล็กๆอย่างเอสโตเนียตั้งอยู่ในยุโรปตอนเหนือหนึ่งในประเทศที่อยู่ในกลุ่มรัฐบอลติกร่วมกับลัตเวียและลิทัวเนียซึ่งมีประชากรเพียง 1.3...